เทคนิคจัดบ้านแบบ Konmari : เปลี่ยนบ้านรกเป็นบ้านโล่งฉบับ มาริเอะ คนโดะ

Back to article

เทคนิคจัดบ้านแบบ Konmari : เปลี่ยนบ้านรกเป็นบ้านโล่งฉบับ มาริเอะ คนโดะ

ไม่ว่าใครเองก็คงไม่อยากให้บ้านของเราเต็มไปด้วยของใช้ไม่จำเป็นที่กองเป็นภูเขา เศษขยะชิ้นเล็กหรือใหญ่ ของใช้หรือเฟอร์นิเจอร์ที่กระทบกับการใช้ชีวิตภายในบ้านนั้น การขจัดมันออกไปได้ น่าจะเป็นเรื่องที่ฟังดูดีเลยทีเดียว 

จากหนังสือ Life – Changing Magic of Tidying up (ชีวิตดีขึ้นทุกๆด้าน จากการจัดบ้านเพียงครั้งเดียว) ของคุณ มาริเอะ คนโดะ (Marie Kondo) เป็นหนึ่งในผู้ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลสูงมากในปี 2015 ได้แนะนำวิธีการและเทคนิคจัดการบ้านให้เรียบร้อย สะอาด โล่งสบายตา ไว้มากมาย ในบทความนี้จะนำหนึ่งในเทคนิคเหล่านั้นมาให้ทุกคนได้รู้จักกัน

 

8 วิธีเปลี่ยนบ้านรกให้เป็นบ้านโล่ง โดยเทคนิค Konmari

1.ออกแบบบ้านที่ต้องการก่อนลงมือจัดบ้าน

เป็นส่วนที่ต้องสรรสร้างจินตนาการผ่านจากตัวของเราว่าต้องการบ้านแบบไหน ที่จะอยู่แล้วมีความสุข เริ่มจากเปิดประตูหน้าบ้านเข้าไป ต้องการเห็นอะไร ต้องการใช้งานอะไร หรือกลับกัน ไม่อยากเห็นอะไรอยู่ตรงนี้ของบ้าน อาจจะใช้การจดบันทึกหรือวาดภาพเพื่อเพิ่มความชัดเจนของความคิดของเราก่อนลงมือปฏิบัติ

 

2.กำหนดเวลาจัดและทำให้เสร็จภายในครั้งเดียว

การค่อยๆเก็บนั้น จะทำให้การเก็บดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น และทุกครั้งจะก็ทำให้บ้านกลับมารกอีกครั้ง การจับเวลา กำหนดเวลาเริ่มและจบอย่างชัดเจน ทำเหมือนกับการแข่งขัน ที่ต้องแข่งขันกับเวลา คุณมาริเอะกล่าวว่าจะทำให้เราสามารถจัดการบ้านที่รกให้เข้าที่เข้าทางได้อย่างรวดเร็ว ในระยะเวลาอันสั้น จนแปลกใจ และไม่อยากให้บ้านกลับมารกอีกแน่นอน

 

3.เก็บตามหมวดหมู่ ไม่เก็บตามพื้นที่

ทั่วไปแล้ว เรามักเริ่มเก็บของจากห้องหนึ่ง ไปสู่อีกห้องหนึ่งเสมอ แต่คุณมาริเอะแนะนำว่าควรเก็บของเป็นประเภทหรือหมวดหมู่ ยกตัวอย่างเช่น เสื้อผ้า หนังสือ เครื่องเขียน ของใช้เหล่านี้อาจถูกเก็บแยกกันมาก่อน จนไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน การเก็บมารวมกันจะทำให้เรารู้ถึงปริมาณของใช้พวกนี้ว่าเรามีเก็บไว้เยอะแค่ไหน เพื่อการเก็บต่อไปในที่ที่เป็นระเบียบมากขึ้นหรือการบอกลาของเหล่านั้นในทีเดียว

 

4.คัดเลือกสิ่งที่อยากเก็บไว้ และขอบคุณสิ่งที่ไม่ปลุกเร้าความสุข

เป็นวิธีการที่ต่อจากข้อก่อนหน้า หลังจากที่ได้ของใช้ที่เป็นหมวดหมู่หรือประเภทเดียวกันมาอยู่ที่เดียวแล้ว ให้พิจารณาถึงความต้องการปัจจุบันตอนนั้นว่าต้องการหรือไม่ต้องการ หากต้องการ ก็นำของหมวดหมู่นั้นๆเก็บไว้เพียงชิ้นที่ต้องการอย่างเข้าที่ แต่หากไม่ต้องการ ให้ทำการขอบคุณของใช้ชิ้นนั้นๆที่เคยอยู่ด้วยกันมา เป็นของใช้ที่ตัวเราในอดีตเคยตัดสินใจรับมาเก็บไว้ แล้วบอกลาไป

 

5.วันหลังไม่มีจริง

ในระหว่างที่จะคัดเลือกของที่ต้องการหรือไม่ต้องการ อาจเกิดความรู้สึกกับของบางชิ้นในรูปแบบที่ อาจได้ใช้วันหลัง ควรคิดไว้เสมอว่าวันหลังที่ว่านั้นไม่มีอยู่จริง เพราะหากของชิ้นนั้นจะถูกใช้ คงได้ใช้ไปตั้งนานแล้ว การบอกลาของเหล่านั้นไปจะเกิดผลดีกับตัวเรามากกว่าทั้งในทางจิตใจและพื้นที่บ้าน

 

6.ไม่ซื้อที่เก็บเพิ่ม

เป็นการตัดสินใจที่ดี ที่จะซื้อชั้นหนังสือ หรือตู้เก็บรองเท้ามาเพิ่มเพื่อจัดระเบียบของใช้นั้นๆ แต่การซื้อที่เก็บของเข้ามาเพิ่มก็จะทำให้บ้านรกเพิ่มขึ้นไปอีก สู้เก็บของที่มีอยู่ให้เป็นระเบียบ ใช้ที่เก็บของที่มีอยู่ และจะได้ไม่สูญเสียพื้นที่ใช้งาน

 

7.จัดเก็บให้มองเห็นของใช้ได้ทุกชิ้น

ผ่านมาจนถึงขั้นตอนที่จะเก็บของที่คัดเลือกเอาไว้ โดยการจัดเก็บไว้นั้น คุณมาริเอะแนะนำไว้ว่าควรเก็บของโดยที่เราจะสามารถมองเห็นได้ทุกชิ้นว่า ชิ้นนั้นๆ คืออะไร เช่นการเก็บเสื้อผ้าหรือกางเกงโดยการพับแล้วตั้งไว้ในชั้นเก็บของ เพื่อให้มองเห็นและหยิบใช้ได้สะดวก

 

8.เอาของออกจากกระเป๋าทุกวัน

ในวันนั้นๆ หลังเลิกงานให้เอาของออกจากกระเป๋าและเก็บเข้าสู่ที่เดิมที่ได้จัดเก็บเอาไว้ เพื่อตรวจสอบจำนวนของในกระเป๋าว่าครบหรือไม่ มีอะไรหายไปหรือเปล่า และยังให้กระเป๋าได้พักการใช้งานอีกด้วย

 

ทั้ง 8 วิธีการจัดการบ้านแบบ Konmari ของคุณมาริเอะนั้น สามารถใช้ได้กับบ้านทุกประเภท ทุกสไตล์ หรืออาจประยุกต์ใช้กับการเก็บของในที่ทำงาน บนรถ หรืออื่นๆได้อีกมาก ซึ่งนอกจากจะช่วยทำให้บ้านโล่งสบายตามากขึ้น หรือเพิ่มพื้นที่มีประโยชน์เพื่อใช้งานได้เพิ่มมากขึ้น ยังมีคำกล่าวที่ว่า “การทำความสะอาดบ้านก็เหมือนการทำความสะอาดจิตใจ” การเก็บกวาดบ้านที่รกนั้นก็เหมือนการทำให้จิตใจเราสะอาดไปด้วยนั่นเอง

บทความอื่นๆ